ThaiPublica > เกาะกระแส > งานวัดวิถีใหม่ Some New Way of Wat’s Work: ความท้าทายพุทธศาสนาไทย ทำไมวงการสงฆ์ต้องดิสรัปต์ตัวเอง

งานวัดวิถีใหม่ Some New Way of Wat’s Work: ความท้าทายพุทธศาสนาไทย ทำไมวงการสงฆ์ต้องดิสรัปต์ตัวเอง

24 เมษายน 2021


เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2564 มีการจัดเสวนาในหัวข้อ “งานวัดวิถีใหม่ (Some New Way of Wat’s Work)” โดยมูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ งานนี้มีที่มาที่ไปหลังจากการจัดงาน 111 ปีพระอาจารย์พุทธทาสในปี 2560 จากแนวคิดที่ต้องการทำงานวิจัยเกี่ยวพุทธศาสนาในลักษณะที่นำไปขยายผลและปฏิบัติได้ ในช่วงกว่า 3 ปีที่ผ่านมาเน้น 3 เรื่อง 1.ศาสนประเพณีพิธีกรรม 2.ศาสนปฏิบัติ 3.การจัดการศาสนสมบัติของวัด

ด้วยบทบาทหน้าที่ของวัดที่เป็นศูนย์กลางชุมชนมายาวนาน แต่ในโลกปัจจุบันวัดกับชุมชนค่อนข้างห่างไกลกัน หน้าที่นี้ถูกท้าทายมาก จากเศรษฐกิจ สังคมและการทำหน้าที่ของวัดเอง แม้ที่ผ่านมาพุทธศาสนา เถรวาทต้องเซทนิวนอร์มอลให้ตัวเองเป็นระยะๆ ทั้งการเปลี่ยนแปลงภายในและภายนอก การจัด “งานวัดวิถีใหม่” ในครั้งนี้เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนมาร่วมกันแสดงความคิดเห็น ช่วยกันหาวิธี เรียนรู้จากงานวิจัยให้เกิดการขยายผล เกิดประโยชน์สูงสุดกับพุทธศสานาและสังคมไทยต่อไป

  • งานวัดวิถีใหม่ Some New Way of Wat’s Work : “พระชยสาโรภิกขุ” แนะโจทย์ 2 ข้อกับอนาคตพุทธศาสนาของไทย
  • 4 คำถามถึงการจัดการศาสนสมบัติ

    พระครูเมธังกร (ปณต คุณวฑฺโฒ) วัดญาณเวศกวัน นครปฐม ชวนผู้ฟังตั้งคำถาม 4 ประเด็นบนเวที “ศาสนสมบัติ กับการจัดการแนวใหม่” เพื่อสะท้อนภาพรวมของบริบทศาสนาพุทธในประเทศไทย ได้แก่

    • ความหมายของศาสนสมบัติ ครอบคลุมถึงอะไรบ้าง
    • ใครเป็นเจ้าของสมบัติในความหมายของ ‘ศาสนาสมบัติ’ เพื่อแสดงหน้าที่ไม่ให้เกิดความขัดแย้งในการจัดการเมื่อเกิดปัญหา
    • วิธีการจัดการให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง และเป้าหมายในการมีอยู่ของศาสนสมบัติ และ
    • ศาสนาจะใช้ทรัพย์สมบัติที่มีให้เกิดประโยชน์เพื่อความเป็นธรรมได้อย่างไร

    พระครูเมธังกรขยายความว่า คำถามทั้งสี่ข้อเป็นสิ่งที่สังคมไทยต้องหาคำตอบ และเมื่อค้นหาคำตอบได้แล้วจะทำให้เกิดกระบวนการจัดสรรทรัพย์สินตามหลักการเศรษฐกิจ กล่าวคือเป็นการจัดการทรัพยากรให้เกิดความเป็นธรรมและประโยชน์สูงสุดทั้งศาสนาและสังคมไทย

    “คำถามคือจัดการอย่างไรให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง ไม่ได้แปลว่าของเข้าไปในวัดแล้วไม่หาย พระไม่ได้ยักยอก ญาติโยมไม่ได้เอาไป แต่คำถามคือเมื่อมันตั้งอยู่ตรงนั้นจะเกิดประโยชน์กับใคร อย่างไร เพราะในการทำบัญชีสิ่งของ เราควรต้องรู้เครือข่ายของวัดว่าวัดไหนมีทรัพย์สินอะไร และจะใช้ประโยชน์อย่างไร”

    วัดสมัยใหม่ต้อง ‘โปร่งใส’ และ ‘ตรวจสอบ’ ได้

    พระมงคลธีรคุณ (อินศร จินฺตาปญฺโญ) รองเจ้าอาวาสวัดญาณเวศกวัน นครปฐม กล่าวในเวทีเดียวกันว่า วัดญาณเวศกวัน นครปฐม เป็นวัดสมัยใหม่ที่ได้รับการก่อตั้งเมื่อ 27 ปีที่ผ่านมา (ราวปี 2537) ทำให้เจ้าอาวาสวางแนวทางให้วัดเป็น ‘อาราม’ และให้วัดเป็นแหล่งเรียนรู้ปฏิบัติธรรมโดยพระสงฆ์จะมีหน้าที่ศึกษาและเผยแผ่หลักธรรมเท่านั้น ทำให้พระสงฆ์ไม่ได้ทำงานด้านบริหารจัดการ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเงิน

    พระมงคลธีรคุณ ยกตัวอย่างที่วัดไม่ให้ตั้งตู้รับบริจาคตามจุดต่างๆ แต่จะรับบริจาคจากตู้เซฟ ซึ่งจะต้องบริจาคเงินโดยนำไปใส่ในตู้เซฟเท่านั้น แต่ทางวัดจะมีฝ่ายการเงินซึ่งเป็นกลุ่มคณะกรรมการบริหารวัด จะเข้ามาเปิดตู้เซฟและนำเงินบริจาคที่ได้มารวมบัญชีแล้วโอนเข้าธนาคารทันที และแจ้งให้พระสงฆ์ทราบในเวลาต่อมา

    “พระแทบไม่ได้ลงไปยุ่งเกี่ยวเรื่องเงิน แม้กระทั่งการรับสังฆทาน ระยะหลังวัดไม่ได้เน้นให้ถวายปัจจัยเป็นซองๆ แต่จะให้ญาติโยมเตรียมปัจจัยไปใส่พานแล้วไปหย่อนลงตู้”

    พระมงคลธีรคุณ (อินศร จินฺตาปญฺโญ) รองเจ้าอาวาสวัดญาณเวศกวัน นครปฐม

    ตัวอย่างถัดมาคือการรับสังฆทาน โดยพระมงคลธีรคุณกล่าวว่า ทางวัดจะจัดตารางวันรับสังฆทานของพระสงฆ์แต่ละรูป และผลัดเปลี่ยนเวียนกันไปรับ นอกจากนี้ยังกำหนดให้สิ่งของที่ได้รับจากสังฆทานเข้าส่วนกลางทั้งหมด แต่ทั้งนี้พระก็มีสิทธิขอไปใช้ส่วนตัวได้กรณีจำเป็น กระทั่งเรื่องเบิกเงินค่ารถไปทำกิจนิมนต์หรือตามงานต่างๆ พระก็จะได้รับครั้งเดียวเมื่อถึงสิ้นเดือน เพื่อให้เป็นระเบียบในการจัดการบัญชี

    “มีให้จด หมดให้จ่าย พอมีปัจจัยเข้ามาก็จดบันทึกไว้ มีรายจ่ายก็ระบุว่าด้วยเหตุอะไร เมื่อไร ใครเป็นคนนำไป ทุกอย่างเป็นขั้นเป็นตอน พระก็รู้สึกว่าเข้าทางในการทำงาน ศาสนาคล่องตัว วัดญาณฯ พยายามทำให้เรื่องเหล่านี้โปร่งใส”

    อย่างไรก็ตาม พระมงคลธีรคุณกล่าวถึงเหตุผลที่วัดญาณฯ ต้องมีระบบตรวจสอบและถ่วงดุลว่า ปัจจุบันมีวัดจำนวนไม่น้อยที่เจ้าอาวาสเอา ‘คนของท่าน’ มาดูแลทรัพย์สิน ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดปัญหาตามมาในภายหลัง ดังนั้นวัดญาณฯ ที่ได้รับการก่อตั้งมา 27 ปีจึงต้องใช้ระบบที่โปร่งใสทั้งหมด

    “ถ้าเจ้าอาวาสหรือพระสงฆ์มีความตั้งใจทำงานเพื่อศาสนา ไม่คิดที่จะเป็นผู้ได้ แล้วจะต้องเอาอะไร เราต้องคิดทำอย่างไรที่จะเผยแผ่ธรรมเพื่อญาติโยม”

    ปัญหาศาสนสมบัติจากพระบ้านนอก

    บนเวทีศาสนสมบัติ กับการจัดการแนวใหม่ ได้เปิดโอกาสให้ผู้ฟังภายในห้องแสดงความคิดเห็น มีพระรูปหนึ่งลุกขึ้นและอภิปรายว่า ทรัพย์สมบัติของวัดมีจำนวนมากกว่าหลักพันชิ้น มีวัดขนาดเล็กแห่งหนึ่งในต่างจังหวัดมีจำนวน 3,943 ชิ้น ในจำนวนนี้มีประเภทจานถ้วยช้อนส้อมเกือบ 2,000 ชิ้น โดยทรัพย์สมบัติของวัดจะได้รับจากการบริจาคเป็นหลัก และทุกอย่างจะต้องจดบันทึกไว้ว่าได้รับอะไรเพิ่มขึ้นเท่าไรเสมอ

    ยิ่งวัดต่างจังหวัดส่วนใหญ่จะมีหลักเกณฑ์ที่รับรู้โดยทั่วกันว่าทรัพย์สมบัติของวัดคือสมบัติของชุมชนด้วย

    “เรื่องนี้วัดบ้านนอกเผชิญปัญหามาก ผมอยู่ในภาคอีสาน เคยมีกรณีว่าพระแจกขันแล้วชาวบ้านขับไล่พระ เพราะเขาถือว่าพระเอาของวัดไปแจกไม่ได้ มันไม่ดี ผมเคยคิดเรื่องนี้ไว้ตั้งแต่เป็นสามเณร กระทั่งได้มารับหน้าที่ให้ดูแลเรื่องนี้ ผมเลยมีกติกาว่าถ้าของไหนแจกไม่ได้ วัดไม่รับ และหลักง่ายๆ คือ ‘ของล้น ขนแจก’ ถ้าไม่แจกเราจะกลายเป็นปู่โสมเฝ้าทรัพย์ ทั้งที่เราต้องเป็นสะพานบุญให้ผู้รับและแจกทานไป

    “ผมเข้าใจว่าจริตคนทำบุญในเมืองไทยไม่ได้บริจาคเพราะเสียสละ แต่บริจาคเพื่อให้พระเฝ้าสมบัติของตัวเอง ให้เอาชื่อตัวเองไปติด นี่เสาฉัน นี่ของของฉัน บางเรื่องละเอียดอ่อนถึงขนาดว่าย้ายเจดีย์แล้วโดนฟ้องได้เลย ผมถึงบอกว่าวัดควรจะห้ามสร้างถาวรวัตถุ สิบปี ยี่สิบปี ค่อยทุบสร้างใหม่ เพื่อให้ไม่มีปัญหาเรื่องโบราณสถาน”

    อำนาจตัดสินใจภายในวัด

    หนึ่งในผู้ร่วมวงสนทนาหัวข้อ “ศาสนสมบัติ กับการจัดการแนวใหม่” อย่าง ดร.บัณฑิต นิจถาวร ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล จึงเสนอว่า วัดควรสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน เนื่องจากวัดจะไม่สามารถดำรงอยู่ได้หากไม่ได้รับการสนับสนุนจากชุมชน

    ดร.บัณฑิตขยายความว่า การจัดการจะต้องคำนึงถึงความเหมาะสมของวัด ความแตกต่างของวัด ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ตั้ง (เมือง ชนบท ชานเมือง) ขนาดของวัด (เล็ก กลาง ใหญ่) และจำนวนพระภิกษุและฆราวาสภายในวัด

    ดร.บัณฑิตกล่าวต่อว่า ปัจจุบันวัดเริ่มมีการปรับตัวในประเด็นการจัดการทรัพย์สินเพื่อให้คล่องตัวมากยิ่งขึ้น เห็นได้ชัดจากเรื่องการตัดสินใจภายในวัด

    จากเดิมวัดขนาดเล็ก ตัวอย่างเช่น วัดดุสิตตาราม ซึ่งจากเดิมเจ้าอาวาสเป็นคนทำเกือบทุกเรื่อง แต่ต่อมามีการเปลี่ยนแปลงระบบ ทำให้มีคนภายนอกมาช่วยให้คำปรึกษาและร่วมปรึกษาหารือกับเจ้าอาวาส เพื่อตัดสินใจประเด็นสำคัญต่างๆ

    วัดระดับกลาง จากเดิมที่เจ้าอาวาสตัดสินใจคนเดียวเปลี่ยนมาเป็นคณะสงฆ์หารือกันเป็นหมู่คณะ มีประชุมประจำเดือน และให้คนภายนอกที่มีความรู้ความสามารถมาแนะนำได้ ส่วนวัดระดับสูง ตัวอย่างเช่น วัดพระศรีมหาธาตุ จะมีการจัดตั้งคณะกรรมการวัดมาจากพระในวัดและบุคคลภายนอก รวมถึงจ้างแบบมีเงินเดือน

    “เราจะเห็นวัดไทยมีการพัฒนาการบริหารจัดการเป็นลำดับที่ให้ความสำคัญโดยไม่ตัดสินใจคนเดียว แต่เปลี่ยนรูปแบบจากเจ้าอาวาส เป็นคณะสงฆ์ สุดท้ายเป็นคนภายนอกมาให้ความเห็น นี่ก็เป็นรูปแบบที่เอกชนทำให้ตรวจสอบและสอบทานได้”

    โจทย์พุทธศาสนาไทย ทำไมคนรุ่นใหม่ไม่เข้าวัด

    ถัดมาเป็นวงเสวนาหัวข้อ “ศาสนธรรมและศาสนประเพณี…ทำอย่างไรให้เข้าถึงใจ” โดยพระธรรมกิตติเมธี (เกษม สญฺญโต) กรรมการมหาเถรสมาคมและประธานศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย กล่าวเปิดว่า

    ปัจจุบันวัดไทยมีมากกว่า 40,000 วัด และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี แต่การเพิ่มขึ้นของวัดนำมาสู่โจทย์การจัดการวัดรูปแบบใหม่ไม่ควรให้ความสำคัญกับจำนวนพระ แต่ต้องมองเรื่องการสร้างความศรัทธาโดยไม่จำกัดแค่ขนาดของวัด

    พระธรรมกิตติเมธีกล่าวต่อว่า…

    “อาตมาอยากให้รัฐบาลมีนโยบายเรื่องศาสนา ให้รัฐมนตรีกระทรวงอุดมศึกษาฯ ออกนโยบายใหม่มาให้คนไทยและเด็กไทยจะต้องเรียนศาสนา เนื่องจากอาตมาเป็นห่วงว่าคนกลุ่มหนึ่งพยายามผลักไสศาสนาออกจากสังคมไทย เลยอยากจะฝากว่าทำอย่างไรที่จะผลักดันเรื่องศาสนาให้ไปสู่การศึกษาทุกชนชั้น ให้พรรคการเมืองบรรจุเรื่องนี้เข้าไป

    พระธรรมกิตติเมธี (เกษม สญฺญโต) กรรมการมหาเถรสมาคมและประธานศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย

    สอดคล้องกับที่พระครูสิริธรรมาภิรัต (ธรรมรัต อริยธมฺโม) รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย วิทยาเขตศรีธรรมาโศกราช มองว่า ปัญหาสำคัญของพุทธศาสนาในประเทศไทยคือเรื่องการขาดผู้นำศาสนาพุทธที่เป็นพระสงฆ์ ทำให้ไม่มีผู้สืบทอดศาสนา จนกลายปัญหาที่คณะสงฆ์กังวล

    “ทำไมคนรุ่นใหม่ไม่เข้าวัด เราต้องมาตั้งคำถามว่าถ้าเขาเข้าวัดแล้วจะได้เรียนรู้อะไร วัดต้องปรับบทบาทให้ศาสนามีห้องอบรมที่เหมาะกับกลุ่มผู้ฟัง เยาวชนห้องหนึ่ง ผู้เฒ่าผู้แก่ไปห้องหนึ่ง นักวิชาการก็อีกกลุ่มหนึ่ง จะมีกลุ่มที่เหมาะสมกับผู้ฟังในการเผยแผ่คนฟัง และทำอย่างไรให้วัดกลายเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน เราอาจจะหาช่องทางทำกิจกรรมทางศาสนาและศาสนพิธีเพื่อนำศาสนธรรมเข้าไปสู่จิตใจของประชาชน”

    พระครูสิริธรรมาภิรัต (ธรรมรัต อริยธมฺโม) รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย วิทยาเขตศรีธรรมาโศกราช

    สร้างศรัทธาด้วยการทำให้ศาสนาเชื่อมโยงกับวิถีชีวิต

    พระมหาฟูกิจ ชุติปญฺโญ วัดสุนันทวนาราม กาญจนบุรี กล่าวว่า การสอนหลักธรรมจะต้องนำหลัก ‘customer centric’ มาใช้ กล่าวคือทำความเข้าใจกับลูกค้าหรือผู้ปฏิบัติธรรมว่า จะทำอย่างไรให้ธรรมะเข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันให้ได้มากที่สุด

    พระมหาฟูกิจกล่าวต่อว่า ตนสอนธรรมะให้กับคนทุกช่วงวัย ตั้งแต่เด็กอายุ 2 ปีไปจนถึงผู้ใหญ่อายุมากกว่า 80 ปี เลยค้นพบว่าวิธีการสอนธรรมะที่ดีคือการสอนที่เหมาะสมกับช่วงวัยโดยไม่นำสถานปฏิบัติธรรมเป็นตัวตั้ง แต่ต้องทำให้ร่างกายและจิตใจเป็นปัจจัยหลัก

    “เด็ก ป.สอง เราก็จะคุยแบบเด็กป.สอง สอนเดินจงกรมอย่างไรให้ตบมือและก้าวเท้าไปพร้อมกัน เพราะถ้าเราบอกเขาแค่ก้าวไป เขาก็งง เราต้องเข้าใจชีวิตเขา คนวัยนี้ทำงานอะไร ค่อยๆ คุยพื้นฐานชีวิต คนวัยทำงานต้องทำสมาธิบนรถเมล์ได้ เดินจงกรมบนรถไฟฟ้าได้ หรือรู้ไหมว่าก้นสัมผัสเก้าอี้อยู่ ถ้าเขาเห็นผลชัด เราไม่จำเป็นต้องทำให้ศรัทธา เพราะเขาเห็นผลในใจของเขาเอง”

    พระมหาฟูกิจกล่าวต่อว่า ปัจจุบันพุทธศาสนาถูกเชื่อมโยงกับวัดหรือสถานปฏิบัติธรรมมากเกินไป ทำให้เข้าถึงยากและคนสนใจน้อยลงทุกวัน รวมไปถึงอาชีพต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นคนขายลูกชิ้น หรือคนเก็บเงินหน้าห้องน้ำ ซึ่งเป็นกลุ่มที่พระไม่สามารถเข้าถึงได้ ดังนั้น พระสงฆ์หรือผู้เผยแพร่ศาสนาจะต้องเปลี่ยนวิธีคิดเพื่อให้ศาสนาเดินต่อไปได้

    “เราต้องเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ไม่ศรัทธาเราบ้าง เพราะเขาตั้งคำถามว่าทำไมต้องมาฟังบุคคลนี้ หน้าข่าวของเขารับรู้ในอีกด้านหนึ่ง แม้เราจะทำงานหนักหรือมีลูกศิษย์มากขนาดไหนก็ตาม แต่การเผชิญหน้ากับวัยรุ่นหนึ่งคนเป็นอะไรที่ยากลำบากมาก เด็กเขาไม่สนใจว่าเราบวชมากี่พรรษา หรือเราจะแสดงธรรมะอะไรให้เขา แต่เขาดูว่าเราเย็นใจให้เขาไหม มีการฟังเขาไหม อาจแค่เปิดจังหวะเล็กๆ ให้เขาได้ถาม แล้วเราก็ตอบใจที่รุ่มร้อนให้สงบลง ช่วงเวลาเล็กๆ ที่เราอยู่กับคนรุ่นใหม่เป็นการส่งทอดศาสนธรรมได้”

    พระมหาฟูกิจ ชุติปญฺโญ วัดสุนันทวนาราม กาญจนบุรี

    ในสังคมที่คนบางกลุ่ม โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ มองว่าศาสนาอาจไม่ใช่เครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจอีกต่อไป เลยเป็นความท้าทายของวงการพุทธศาสนาไทยว่า จะสร้างความเชื่อมั่นและเรียกศรัทธาให้สังคมไทยได้อย่างไร รวมไปถึงการจัดสรรธรรมให้เข้ากับคนทุกกลุ่ม

    เรื่องเหล่านี้เป็นคำถามที่พระมหาฟูกิจชวนสังคมมาหาคำตอบร่วมกัน