ThaiPublica > เกาะกระแส > งานวัดวิถีใหม่ Some New Way of Wat’s Work : “พระชยสาโรภิกขุ” แนะโจทย์ 2 ข้อกับอนาคตพุทธศาสนาของไทย

งานวัดวิถีใหม่ Some New Way of Wat’s Work : “พระชยสาโรภิกขุ” แนะโจทย์ 2 ข้อกับอนาคตพุทธศาสนาของไทย

28 มีนาคม 2021


เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2564 มีการจัดเสวนาในหัวข้อ “งานวัดวิถีใหม่ (Some New Way of Wat’s Work)” โดยมูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ งานนี้มีที่มาที่ไปหลังจากการจัดงาน 111 ปีพระอาจารย์พุทธทาสในปี 2560 จากแนวคิดที่ต้องการทำงานวิจัยเกี่ยวพุทธศาสนาในลักษณะที่นำไปขยายผลและปฏิบัติได้ ในช่วงกว่า 3 ปีที่ผ่านมาเน้น 3 เรื่อง 1.ศาสนประเพณีพิธีกรรม 2.ศาสนปฏิบัติ 3.การจัดการศาสนสมบัติของวัด

ด้วยบทบาทหน้าที่ของวัดที่เป็นศูนย์กลางชุมชนมายาวนาน แต่ในโลกปัจจุบันวัดกับชุมชนค่อนข้างห่างไกลกัน หน้าที่นี้ถูกท้าทายมาก จากเศรษฐกิจ สังคมและการทำหน้าที่ของวัดเอง แม้ที่ผ่านมาพุทธศาสนา เถรวาทต้องเซทนิวนอร์มอลให้ตัวเองเป็นระยะๆ ทั้งการเปลี่ยนแปลงภายในและภายนอก การจัด “งานวัดวิถีใหม่” ในครั้งนี้เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนมาร่วมกันแสดงความคิดเห็น ช่วยกันหาวิธี เรียนรู้จากงานวิจัยให้เกิดการขยายผล เกิดประโยชน์สูงสุดกับพุทธศสานาและสังคมไทยต่อไป

พระเทพพัชรญาณมุนี (ชยสาโรภิกขุ) ที่มาภาพ : หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ

พระเทพพัชรญาณมุนี (ชยสาโรภิกขุ) ได้กล่าวปาฐกถานำใน “งานวัดวิถีใหม่ (Some New Way of Wat’s Work)” โดยได้กล่าวว่า… ขอนมัสการครูบาอาจารย์และญาติโยม ด้วยเวลาค่อนข้างจำกัด ที่จริงเรื่องจะพูดได้มีมากมาย แต่ก่อนอื่นขออภัยพูดเรื่องส่วนตัวนิดหน่อยว่า อาตมาเข้ามาอุปสมบทในเมืองไทยตั้งแต่ปี 2521 โดยมีความตั้งใจจะบวชตลอดชีวิต และจะอยู่ในเมืองไทยตลอด จะไม่จำพรรษาที่ประเทศอื่น เพราะว่าตั้งแต่เกิดศรัทธาและก็มีความประสงค์จะเป็นพระภิกษุในเมืองพุทธ ไม่เคยสนใจและไม่เคยมีแรงดลบันดาลใจที่จะเผยแผ่ในต่างประเทศ เพราะอาตมาก็มีความเชื่อตั้งแต่ต้นมาว่า อนาคตของพุทธศาสนาไม่ได้อยู่ในตะวันตก อนาคตคงพุทธศาสนาอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะเมืองไทย ลาว เขมร ศรีลังกา จำนวนชาวต่างชาติที่หันมาสนใจศึกษาพระพุทธศาสนาก็เพิ่มขึ้นทุกปี แต่ข้อเท็จริงก็เป็นจำนวนนิดเดียว ถ้าเทียบกับชาวพุทธในเมืองไทย 50 กว่าล้านคน

“การเผยแผ่ในต่างประเทศ เราก็ควรจะเน้นในอินเดียกับจีนมากกว่า อาตมามีเพื่อนที่บวชปีเดียวกัน ท่านมาเยี่ยมอาตมาบอกว่าเพิ่งกลับจากต่างประเทศ กำลังจะสร้างสำนักที่นอร์เวย์ แล้วญาติโยมชาวไทยที่อังกฤษจะถวายที่ดิน แล้วก็อีกกลุ่มหนึ่งจะถวายที่ดินแถวบอสตัน ท่านก็ภูมิใจในผลงาน”

อาตมาในฐานะที่เป็นเพื่อนสนิทก็ถามตรงๆ ว่า ไปอยู่นอร์เวย์ทำไม เพื่ออะไร จะมีคนเข้าวัดสักกี่คน อาตมาก็ไม่ต้องถามก็รู้ว่ามีผู้หญิงไทยกับสามี กับเพื่อนกลุ่มเล็กๆจำนวนไม่มาก พระหลายท่านที่บอกว่าจะไปสร้างวัดในต่างประเทศ ถามว่าด้วยจุดประสงค์อะไร ก็บอกสงสารคนไทยที่อยู่ต่างประเทศ ไม่มีที่พึ่ง แล้วผู้หญิงไทยที่อยู่ต่างประเทศ ไม่มีใครบังคับให้ไป ก็ไปด้วยความสมัครใจ ใช่ไหม แล้วทำไมไม่ไม่สงสารผู้หญิงไทยที่อยู่เมืองไทยซึ่งมีมากกว่าหลายร้อยหลายพันเท่า

นี่ก็เป็นความคิดเรื่องการเผยแผ่

ดังนั้นการอยู่ในเมืองไทย อาตมาก็มีความตั้งอกตั้งใจ และเมื่อปีที่แล้วก็มีความภาคภูมิใจมากที่ได้โอนสัญชาติเป็นคนไทยเต็มตัว ดังนั้นบางสิ่งบางอย่าง แต่ก่อนนี้ไม่กล้าพูด เพราะว่าเป็นพระฝรั่ง จะน่าหมั่นไส้ ถ้าฝรั่งพูดอย่างนั้นเกี่ยวเมืองไทย นี่ก็มีโอกาสพูดตรงๆ ได้เพราะว่าเป็นคนไทยด้วยกัน

ข้อคิดข้อแรกก็คือการทางที่จะพัฒนาสิ่งใหม่ขึ้นมาไม่ว่าในบริบทไหนก็ตาม เราต้องเรียนรู้เรื่องอดีตให้ดีเสียก่อน เพราะปัจจุบันก็เป็นผลของอดีต เหตุปัจจัยต่างๆ ที่เป็นเหตุให้เกิดปัญหาในอดีต มีอะไรบ้าง ตั้งแต่ยุคไหน เป็นต้น ดังนั้นการที่จะสร้างสิ่งใหม่ ต้องดูที่ “นั่งร้าน” ก่อน ว่า “นั่งร้าน” นั้นมั่นคงไหม ถ้าพื้นฐานนั่งร้านไม่มั่นคง จากความเข้าใจผิดหรือความไม่เข้าใจหลายอย่าง ก็คงยากที่จะเป็นประโยชน์ในระยะยาว

มักจะมีญาติโยม กล่าวถึงความเสื่อมของศาสนาบ่อยๆ อาตมาเลยสนใจ ถามว่า…อาตมาก็อยากจะทราบเหมือนกันว่ามันเสื่อมอย่างไร เพราะว่าอาตมาไม่มีข้อมูลมากพอจะสรุปได้ โยมอาจจะมีข้อมูลมากกว่าอาตมา ว่าเสื่อมอย่างไร ที่มีข่าวเรื่องพระประพฤติไม่ดี ทุกวัน ทุกวัน แล้วพระที่โยมรู้จักเป็นการส่วนตัว มีสักกี่รูป วัดที่โยมเข้าประจำ จนกล้าวิจารณ์ได้ มีกี่วัด เพราะสำหรับอาตมาน้อยมากเลย

สมมติว่า พระสงฆ์มี 3 แสนรูป สมมุติว่าดีหมด 99% ไม่ดี 1% และ 1% ใน 3 แสนรูป ก็ 3 พันรูป การจะเอาข่าวเรื่องพระที่ไม่ดี 3,000 รูป ลงหนังสือพิมพ์ มีเรื่องอื้อฉาวออกมาทุกวัน ไม่ขาดเลย สุดท้าย เราอาจจะสรุปตัวเองด้วยสามัญสำนึกว่า…พุทธศาสนาหมดสภาพเลย

ข่าวนี้จะเป็นสิ่งสะท้อนปัญหาของสถาบันมากน้อยแค่ไหน อันนี้ก็เป็นเรื่องที่ยังไม่กล้าสรุป ความคิดอาตมา พระก็คงไม่ดีทั้ง 99% แน่แต่ว่าจะอยู่ในระดับไหน

ทีนี้เรื่องของศาสนาจะมีบางเรื่องที่เป็นวัตถุธรรมและเป็นสิ่งที่เราประเมินได้ วัดได้ เอาเป็นตัวเลขได้ แต่หัวใจของศาสนาเป็นเรื่องนามธรรม ซึ่งเราไม่มีทางที่จะประเมินได้ ก็เป็นปัญหาของนักปฏิบัติอยู่เสมอว่าไม่มั่นใจว่าก้าวหน้าหรือถอยหลังกันแน่ เพราะไม่มีเครื่องชี้วัดที่ชัดเจน

อย่างไรก็ตาม ในบางส่วนบางสิ่งบางอย่างที่อาตมาว่ายังขาดข้อมูลที่พอหาได้ อย่างเช่นข้อมูลเกี่ยวกับพระสงฆ์ในประเทศไทย สถิติต่างๆ แทบจะไม่มี แม้แต่ว่าพระโดยเฉลี่ยอยู่ในผ้าเหลืองกี่ปี กี่พรรษา อยู่ตลอดชีวิตกี่เปอร์เซ็นต์ สาเหตุที่ลาสิกขามีอะไรบ้าง สถิติแบบพื้นฐาน และถ้ามี… อาตมาอาจจะขาดความรู้ก็ได้ แต่เท่าที่ทราบและไม่เคยเห็นว่ามีรายละเอียด ทีนี้เรา…ถ้าเราจะพัฒนาสถาบันสงฆ์นี้แล้วก็ต้องมีข้อมูลที่ไว้ใจได้เพื่อจะได้รู้ว่าจุดอ่อนตรงไหนอย่างไร

ที่มาภาพ : หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ

ทีนี้เรื่องวิถีใหม่ อาตมาได้อุปสมบทในสายที่อนุรักษนิยมที่สุดคือสายวัดป่า แต่ในขณะเดียวกัน ก็พยายามเข้าใจพระที่อยู่สายอื่นและตอนหลังก็มีเพื่อน มีความเข้าใจ มีความเคารพนับถือมากขึ้น ซึ่งเป็นปัญหาที่ต้องระวังอยู่เสมอตั้งแต่สมัยพุทธกาล พระสายปฏิบัติ พระสายปริยัติไม่ค่อยจะถูกกัน หลังๆ รู้สึกจะดีขึ้น อันนี้ก็เป็นนิมิตหมายที่ดี ในคามวาสี อรัญญวาสี สมานสามัคคีกัน ถือว่าเป็นเพื่อนกัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เป็นสิ่งที่นำไปสู่ความสมานสามัคคีของสงฆ์

อย่างไรก็ตามในสายของอาตมานั้น เราก็เน้นพระวินัย และอาตมาก็ถือว่าถ้าเราไม่พูดถึงวินัยของสงฆ์เลย ก็คงยาก จะพูดก็กลัวกระทบกระเทือน แต่อาตมาจะขอพูดแค่ 2 ข้อที่ฝากไว้

ข้อ 1 ก็เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างพระสงฆ์กับเอกลาภ กับเงินกับทอง อาตมารู้สึกมีความมีความสุขอย่างยิ่ง ที่ไม่ต้องจับเงินกับทอง ไม่ต้องยุ่งกับมันเลย แล้วเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้มีความภาคภูมิใจ ในความเป็นสมณะ ความรู้สึกในการเป็นสมณะ ขึ้นอยู่กับการไม่ยุ่งกับเงินกับทองมาก

ปัญหามากมายที่เกิดขึ้นใน 50-100 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ชาวบ้าน ลูกศิษย์วัด มีเงิน มีทองมากขึ้น ชาวบ้านสมัยก่อน ชาวบ้านเองก็ไม่มีเงิน พระเรารับเงินก็ไม่มีความหมาย เพราะว่าไม่มีใครถวาย สังคมก็เปลี่ยนแปลงไป ถ้าเราพูดถึงการจะปรับปรุงแก้ไข แล้วจะพัฒนาต่อไป ประเด็นนี้ต้องต้องพูดคุยกันว่าจะเอาเอายังไงกันดี

ข้อที่ 2 เรื่องไม่ทราบว่าเราได้ติดตามข่าวต่างประเทศเกี่ยวกับเรื่องปัญหาในศาสนาคริสต์ เกี่ยวกับบาทหลวง ละเมิดเด็กทางเพศเป็นเรื่องหนักมากและทำลายความเชื่อถือ ความไว้วางใจ ในศาสนามาก ซึ่งตัวอย่างที่ดีประเทศไอร์แลนด์ เมื่อ 30-40 ปีที่แล้วในยุโรป เป็นประเทศที่ยังเข้มงวดที่สุดหรือว่าศรัทธาแรงที่สุด ตอนนี้พลิกกลับมาเลย เพราะการสมคบพฤติกรรมของบาทหลวงและแม่ชี ที่สังคมรับไม่ได้ แต่ที่ทำให้คนหันหลังให้ศาสนา รังเกียจศาสนา อคติต่อศาสนามากที่สุด เพราะมีหลักฐานว่าผู้ใหญ่ปิดบังอำพราง ปกป้องบาทหลวงมีพฤติกรรมร้ายในในโบสถ์หนึ่ง ย้ายมาอีกโบสถ์หนึ่ง ต่อมาก็ย้ายซ้ำๆ

บางทีบาทหลวงก็มีเรื่องทำลายชีวิตของเด็ก 10 กว่าแห่ง โดยผู้ใหญ่หลับหูหลับตา เพราะกลัวจะมีผลกระทบต่อชื่อเสียงของศาสนาและศรัทธา

ปัจจุบันนี้เป็นอีกเรื่องหนึ่ง อาตมามีข้อมูลน้อย แต่อาตมาเชื่อว่าเป็นปัญหาแล้ว เรื่องสามเณรน้อยโดนการล่วงละเมิดทางเพศ เหมือนกัน เป็นระเบิดเวลาในศาสนาเรา ถ้าหากว่ามีและไม่จัดการ ต่อไปนี้ถ้าเป็นข่าวออกมา แล้วก็ปรากฏว่า สถาบันเราปิดบังอำพรางเพราะกลัวชาวบ้านจะเสียศรัทธา มันจะมีผลกระทบอย่างรุนแรงได้

เพราะฉะนั้นเรื่องที่พูดแล้ว ขออภัย พูดเรื่องไม่น่าฟังฟัง 2 เรื่อง “เรื่องเงินกับเรื่องวินัย” โดยเฉพาะวินัยที่คุมระหว่างผู้มีอำนาจกับผู้อยู่ใต้อำนาจ

ที่มาภาพ : หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ

ทีนี้กลับมาดูฐานเดิมที่เราต้องการเพื่อจะนำไปสู่อนาคต จะพูดถึงเฉพาะของสถาบันสงฆ์ คือเป็นระบบอาวุโสที่พิเศษอยู่ 2 ข้อ

    ข้อ 1 ทุกคนที่อยู่ในระบบ อยู่ด้วยความสมัครใจ เพราะไม่มีใครบังคับให้เราออกบวช
    ข้อ 2 วินัย ไม่มียกเว้นสำหรับผู้ใหญ่ อาตมาว่าเป็นเรื่องน่าสนใจมากและน่าทำเป็นการวิจัยเหมือนกันว่า ในเมื่อพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทไม่มีคำว่า “อภิสิทธิ์” ทำไมเมืองพุทธฝ่ายเถรวาทเต็มไปด้วยอภิสิทธิ์หมดเลย

ที่ว่าเดิมไม่มีอภิสิทธิ์ ก็ดูที่พระผู้ใหญ่ พระเถระ มหาเถระ บวช 30ปี, 40ปี, 50 ปี อาจจะเป็นพระอริยเจ้าก็ตาม แต่ท่านยังแต่งตัวเหมือนวันแรกที่ออกบวช ปัจจัย 4 ก็แทบจะไม่ต่างกัน แต่ที่สำคัญก็คือขั้นตอนปฏิบัติตามหลักพระวินัย สิขาบทในพระปาฏิโมกข์ทั้งหมด ซึ่งเทียบกับพุทธศาสนาฝ่ายวัชรยาณ เป็นต้น มักจะมีความเชื่อว่าถ้าผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ถึงขั้นที่จิตหลุดพ้นแล้ว ไม่ต้องรักษาวินัยก็ได้ เพราะยังไงๆ จิตใจของท่านว่างแล้ว มันจะไม่มีมลทินเหมือนพวกเรา หากเห็นผู้ใหญ่ทำอะไรที่ดูน่าเกลียดว่าไม่เหมาะสม ก็ต้องโทษตัวเอง ว่าเราไม่สามารถจะรู้ จะเข้าใจจิตใจ ของผู้ที่หลุดพ้นไปแล้ว ท่านเหนือบุญเหนือบาปไปแล้ว ตัดสินไม่ได้ วิจารณ์ท่านไม่ได้

ความคิดอย่างนี้เป็นเหตุที่อาตมาตัดสินใจไม่บวชที่ทิเบต ชอบที่สุดว่าครูบาอาจารย์เมืองไทย ถือว่าอายุพรรษามากน้อยแค่ไหน ต้องเป็นตัวอย่าง ซึ่งเรื่องนี้มีพระมหากัสสปะเป็นต้นฉบับที่ท่านไม่ยอมละธุดงควัตร ทั้งๆ ที่พระพุทธองค์เอง ชักชวนขอร้องว่าแก่แล้ว ไม่ต้อง แต่พระมหากัสสปะก็ตอบว่าต้องรักษา ไม่ได้รักษาเพื่อตัวเอง แต่รักษาเพื่อเป็นตัวอย่างแก่อนุชนรุ่นหลัง

ฉะนั้นการทำประโยชน์ของพระผู้ใหญ่ พระมหาเถระ ส่วนหนึ่งคือ บางสิ่งบางอย่าง ถ้าไม่ทำ ก็ไม่เป็นไร จิตใจของเรา ก็คงไม่หวั่นไหว ไม่เศร้าหมองก็ได้ แต่เรายังทำอยู่ เพื่อเป็นตัวอย่างที่ดี ทั้งแก่ลูกศิษย์ลูกหาในปัจจุบัน และแก่อนุชนรุ่นหลัง

ดังนั้นในการที่พระสงฆ์เราเป็นตัวอย่างที่ดี ในทางพระวินัย เป็นส่วนสำคัญในการเผยแผ่พุทธศาสนา ไม่ว่าในเมืองหรือระดับชาวบ้าน

เรื่องของวินัยอาตมาว่าสำคัญมาก อย่างอาตมาตั้งแต่อาตมาอุปสมบท 2-3 ครั้ง ก็ได้เดินธุดงค์ในประเทศอินเดีย แต่ละครั้งก็หลายร้อยกิโลเมตร เดินองค์เดียว อาตมาก็ไม่เคยอด ไม่เคยขาดอาหาร เพราะชาวบ้านเขายินดีถวายอาหารทุกเช้า บิณฑบาตก็ไม่เคยมีปัญหา

สิ่งที่เขาศรัทธา เขาไม่ได้ศรัทธาในธรรมะเท่าไหร่ อาตมาไม่รู้ภาษาเขา อาตมาถ่ายทอดหรือสื่อสารกับเขาก็ไม่ค่อยจะได้ แต่เพราะเรารู้ว่าเป็นพระในพุทธศาสนา เป็นพระที่ฉันมื้อเดียว ฉันแต่อาหารที่บิณฑบาต ไม่รับเงินรับทอง ศรัทธาทันที… คือพฤติกรรม วิถีชีวิตของเรานี่ก็คือ “ตัวเผยแผ่” ถ้าหากเราเองก็สอนเรื่องความสันโดษ ความมักน้อย การรู้จักพอดี เป็นต้น แต่เราก็อยู่แบบไม่สันโดษ ไม่พอดี คำพูดไม่มีน้ำหนัก

ที่มาภาพ : หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ

เมื่อ 300-400 ปีที่แล้วก็มีบาทหลวง นักเผยแพร่ศาสนาคริสต์ฝ่ายคาทอลิกมาเมืองไทย แล้วบางท่านก็เขียนไดอารี่บันทึกข้อความ ที่อาตมาเคยอ่านแล้วประทับใจ บาทหลวงคนหนึ่งเขียนถึงพระเจ้าหลุยส์เท่าไหร่จำไม่ได้ น่าจะหลุยส์ 14 ว่าคงไม่ได้ผลที่นี่ เพราะ สู้พระในพุทธศาสนาไม่ได้ ชาวบ้านที่นี่เขาเชื่อพระ เขาเห็นพฤติกรรมของบาทหลวงซึ่งดื่มเหล้า ดื่มไวน์มั่ง อะไรมั่ง เทียบกับวิถี เทียบกับพระสงฆ์ เขาไม่ศรัทธา เขียนอยู่ในหนังสือที่เขาพิมพ์ไว้ ดังนั้นการวางความสัมพันธ์กับชาวบ้านในทางที่เหมาะสม ถูกต้อง เป็นส่วนสำคัญในการสร้างอนาคตของพุทธศาสนา

ข้อสุดท้ายพูดอีกนิดเดียวก็คือประเทศเขมร เป็นประเทศที่น่าสนใจ เดิมเป็นมหายาน และเปลี่ยนจากมหายานเป็นเถรวาท นักวิชาการชาวต่างชาติเขียนวิจัยเรื่องนี้ แต่ท่านวิจัยว่าเหตุผลก็คือทางฝ่ายมหายานซึ่งจะเน้นพิธีกรรมมากและคลุกคลีคนชั้นสูงอยู่ในเมืองมาก ซึ่งห่างไกลจากชาวบ้าน อย่างที่หลวงพ่อสมเด็จพูด ส่วนพระในไทยสายเถรวาทอยู่กับรากหญ้า อยู่กับชาวบ้าน ธุดงค์ออกบิณฑบาตทุกวัน การบิณฑบาตสำคัญมากในการรักษาพุทธศาสนาไว้นะ เรื่องบิณฑบาต เรื่องธุดงค์ เรื่องสร้างความสัมพันธ์ที่เหมาะสมแต่อบอุ่น ด้วยมีการแลกเปลี่ยน ที่พระเป็นตัวอย่างในทางศีลธรรม เป็นผู้ให้ข้อคิด เป็นผู้ที่ให้กำลังใจ ญาติโยมเป็นผู้ที่ดูแลเรื่องปัจจัย 4 ในขณะเดียวกันไม่ถือว่าเป็นหน้าที่ แต่อยู่ที่การให้ทานเท่านั้น แต่พระสงฆ์นี้ต้องพยายามให้กำลังใจว่าทานนี้มันดีแล้ว อนุโมทนา แต่ให้ทาน ต้องมีศีลด้วยนะ ศีลอย่างเดียวไม่พอนะ ต้องภาวนา ดังนั้นพุทธศาสนาของเราจะเจริญหรือเสื่อมอยู่ 3 ข้อนี้ เรื่องทาน เรื่องศีล เรื่องภาวนาต้องให้ครบ เริ่มปริยัติ เรื่องปฏิบัติ และเรื่องเผยแผ่