ThaiPublica > เกาะกระแส > กรณี “อุทยานราชภักดิ์” สะท้อนความล้มเหลว “การเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ” ยุค คสช.

กรณี “อุทยานราชภักดิ์” สะท้อนความล้มเหลว “การเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ” ยุค คสช.

10 มีนาคม 2016


581119ราชภักดิ์-620x467

แม้ พล.อ. ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะประธานศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) ได้สั่งการให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) กลับไปตรวจสอบโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์เพิ่มเติมอีก 2-3 ประเด็น เพื่อคลายข้อสงสัยของสังคม โดยเฉพาะเรื่องการเรียกรับค่าหัวคิว หลัง สตง. สรุปผลการตรวจสอบมาให้กับ พล.อ. ไพบูลย์ ว่า โครงการดังกล่าว “ไม่มีการทุจริต”

แต่มีแนวโน้มว่าเรื่องนี้จะจบลงว่า “ไม่มีการทุจริต” โดยที่ประชาชนทั่วไปแทบไม่ทราบข้อมูลเกี่ยวกับโครงการนี้เลย ทั้งที่ใช้งบบางส่วนจากเงินภาษีของประชาชน โดยเฉพาะงบกลาง 63 ล้านบาท ไม่รวมถึงเงินบริจาคจากภาคเอกชนอีกหลายร้อยล้านบาท ซึ่งทั้งหมดได้เบิกจ่ายผ่านหน่วยงานของรัฐ ภายใต้กองทัพบก (ทบ.) ทำให้ไม่เพียงต้องปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ยังต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารให้สาธารณชนได้ตรวจสอบ อย่างน้อย 3 ฉบับ ประกอบด้วย

แต่กรณีอุทยานราชภักดิ์อาจพูดได้ว่า ล้มเหลวในการปฏิบัติตามกฎหมายทั้ง 3 ฉบับเกือบจะสิ้นเชิง ทั้งๆ ที่ผู้เกี่ยวข้องยืนยันผ่านสื่อหลายครั้ง ว่าโครงการนี้ “โปร่งใส พร้อมเปิดเผยข้อมูลให้ตรวจสอบได้” ก็ตาม แต่เมื่อถึงเวลาจริง กลับยากที่จะเข้าถึงข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับโครงการดังกล่าว

สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า จะขอแยกเป็นรายประเด็นว่า รัฐบาล คสช. ล้มเหลวในการเปิดเผยข้อมูลกรณีอุทยานราชภักดิ์ในแง่มุมใดบ้าง

เปิดข้อมูลจัดซื้อจัดจ้าง
ตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 “สรุปผลการจัดซื้อจัดจ้างรายเดือน” เป็นข้อมูลที่ต้องเปิดให้ประชาชนสามารถเข้าตรวจดูได้ “โดยอัตโนมัติ”

1. ไม่เปิดเผยข้อมูล ซึ่งกฎหมายกำหนดให้ต้องเปิด “โดยอัตโนมัติ”

ประเทศไทยเคยได้รับการยกย่องว่ามีกฎหมายข้อมูลข่าวสารที่ก้าวหน้าที่สุดประเทศหนึ่งในทวีปเอเชีย เมื่อมีการตรา พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ ออกมาในปี 2540 เพื่อเพิ่มสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของหน่วยงานของรัฐแก่ประชาชน โดยข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างถือเป็น “ข้อมูลพื้นฐาน” ที่ต้องเปิดเผย “โดยอัตโนมัติ” ให้ประชาชนเข้าตรวจดูได้ตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ ข้อ 9 (8) ประกอบกับประกาศคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารฯ ที่เกี่ยวข้อง โดยไม่จำเป็นต้องยื่นคำร้องขอ

แต่กรณีอุทยานราชภักดิ์ เมื่อผู้สื่อข่าวเดินทางไปที่ ทบ. เพื่อขอตรวจดูข้อมูล “สรุปการจัดซื้อจัดจ้างประจำเดือน” ของหน่วยงานภายใน ทบ. ในปีงบประมาณ 2558 (ตุลาคม 2557 – กันยายน 2558) ซึ่งเป็นช่วงที่ พล.อ. อุดมเดช สีตบุตร เป็นผู้บัญชาการทหารบก และริเริ่มโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ ปรากฏว่า หน่วยงานภายใน ทบ. ที่เกี่ยวข้องกับโครงการดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นกรมกิจการพลเรือนทหารบก (กร.ทบ.) หรือกรมยุทธโยธาทหารบก (ยย.ทบ.) กลับจัดส่งข้อมูลมายังศูนย์บริการข้อมูลข่าวสารของ ทบ. ให้ตรวจดูไม่ครบถ้วน

ท้ายที่สุด จึงต้องยื่นคำร้องขอตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ มาตรา 11 ในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2559 แต่แม้เวลาจะผ่านไปกว่า 3 เดือนก็ยังได้เอกสารที่ยื่นขอไปไม่ครบถ้วน

พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (กฎหมาย ป.ป.ช.) มาตรา 103/7 กำหนดให้หน่วยงานของรัฐต้องเปิดเผยราคากลางโครงการจัดซื้อจัดจ้างทั้งหมดไว้บนเว็บไซต์
กฎหมาย ป.ป.ช. มาตรา 103/7 กำหนดให้หน่วยงานของรัฐต้องเปิดเผยราคากลางโครงการจัดซื้อจัดจ้างทั้งหมดไว้บนเว็บไซต์ เพื่อให้ประชาชนสามารถตรวจดูได้

ทั้งนี้ ยังไม่รวมถึงการไม่เปิดเผย “ราคากลาง” โครงการจัดซื้อจัดจ้าง ไว้บนเว็บไซต์หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ตามกฎหมาย ป.ป.ช. มาตรา 103/7 ซึ่ง ครม. เคยมีมติเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2556 สั่งการให้หน่วยงานของรัฐทุกกระทรวง ทบวง กรม ต้องปฏิบัติตาม เพราะจากการตรวจสอบโครงการจัดซื้อจัดจ้างที่เกี่ยวข้องกับอุทยานราชภักดิ์ ทั้ง 43 โครงการ รวมวงเงินกว่า 900 ล้านบาท มีการเปิดเผยราคากลางของโครงการไว้เพียง 5 โครงการ ที่ใช้งบกลางเท่านั้น

2. มีการดึงเวลาหรือปฏิเสธคำขอเมื่อใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เคยวิจัยปัญหาการบังคับใช้ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ โดยระบุถึงอุปสรรคที่ทำให้ไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพไว้หลายประการ ซึ่งรวมถึงการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐเลือกที่จะ “ปกปิด” มากกว่า “เปิดเผย” รวมถึงกระบวนการต่างๆ ในการพิจารณาว่าจะเปิดเผยหรือไม่ ที่ใช้ระยะเวลาค่อนข้างนาน

กรณีอุทยานราชภักดิ์ มีผู้สื่อข่าวขอใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ มาตรา 11 ยื่นคำร้องขอข้อมูลจากกระทรวงกลาโหมและ ทบ. อย่างน้อย 3 คำร้อง แต่ทุกคำร้องจะประสบปัญหาที่ใกล้เคียงกัน คือ หากไม่ได้รับการปฏิเสธ ก็มักดำเนินการอย่างล่าช้า

หนังสือตอบกลับจาก พล.ต.ปัณณทัต กาญจนวสิต เลขานุการกองทัพบก กรณีที่ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า ยื่นคำร้องตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 ขอข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ ซึ่งปัจจุบันผ่านมากว่า 3 เดือนแล้ว ก็ยังไม่ได้รับข้อมูลตามที่ยื่นขอแต่อย่างใด
หนังสือตอบกลับจาก พล.ต.ปัณณทัต กาญจนวสิต เลขานุการกองทัพบก กรณีที่ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า ยื่นคำร้องตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540  มาตรา 11 ขอข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ จากหน่วยงานภายในกองทัพบก แต่แม้เวลาจะผ่านไปกว่า 3 เดือนนับแต่วันที่ยื่นคำขอ ก็ยังได้รับข้อมูลที่ร้องขอไม่ครบถ้วน โดยเฉพาะข้อมูลเกี่ยวกับ “ราคากลาง” ที่ยังไม่ได้มาเลยแม้แต่แผ่นเดียว

– คำร้องแรก สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า ยื่นต่อศูนย์บริการข้อมูลข่าวสาร ทบ. เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2558 ขอสรุปผลการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานภายใน ทบ. ที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ โดยเฉพาะของ กร.ทบ. และ ยย.ทบ. รวมถึงราคากลางโครงการที่เกี่ยวข้อง

ผลปรากฏว่า การดำเนินการตามคำร้องนี้เป็นไปอย่างล่าช้า แม้เจ้าหน้าที่ของศูนย์บริหารข้อมูลข่าวสาร ทบ. จะให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ติดตาม เร่งรัด และทวงถามให้ แต่หน่วยงานภายใน ทบ. ที่เกี่ยวข้องก็ยังไม่จัดส่งข้อมูลมาให้ กระทั่งสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าต้องยื่นร้องเรียนต่อคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ (กขร.) เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2559 ซึ่งแม้เวลาต่อมา จะมีเอกสารสรุปผลการจัดซื้อจัดจ้างของ กร.ทบ. และ ยย.ทบ. มาให้จนครบถ้วน แต่ก็ต้องใช้เวลาถึง 3 เดือนหลังยื่นคำร้อง นอกจากนี้ ยังขาดข้อมูลราคากลางโครงการที่เกี่ยวข้องกับอุทยานราชภักดิ์

คำร้องที่ 2 สำนักข่าวอิศรา ยื่นต่อศูนย์บริการข้อมูลข่าวสาร ทบ. เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2558 ขอผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ชุด พล.อ. วีรัณ ฉันทศาสตร์โกศล รวมถึงยอดเงินและรายชื่อผู้บริจาคทั้งหมด

ปรากฏว่า การดำเนินการตามคำร้องนี้เป็นไปอย่างล่าช้า จนสำนักข่าวอิศราต้องยื่นร้องเรียนต่อ กขร. เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2559

– คำร้องที่ 3 สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า ยื่นคำร้องต่อศูนย์บริการข้อมูลข่าวสาร กระทรวงกลาโหม (กห.) เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2558 ขอผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ชุด พล.อ. ชัยชาญ ช้างมงคล รวมถึงรายชื่อคู่สัญญาที่เกี่ยวข้องกับโครงการนี้ทั้งหมด

ปรากฏว่า การดำเนินการตามคำร้องนี้ก็เป็นไปอย่างล่าช้า เช่นเดียวกับ 2 คำร้องแรก โดยจากการประสานงานกับเจ้าหน้าที่ของศูนย์บริการข้อมูลข่าวสาร กระทรวงกลาโหม ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2559 ได้รับคำตอบว่า “ยังต้องรอผู้ใหญ่แจ้งลงมาก่อนว่าจะเปิดเผยข้อมูลได้หรือไม่” ทั้งที่เวลาผ่านมาเกือบ 2 เดือนแล้วนับแต่วันที่ยื่นคำร้อง

พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะอดีตผู้บัญชาการทหารบก ที่มาภาพ : http://www.posttoday.com/politic/417627
พล.อ. อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะอดีตผู้บัญชาการทหารบก ที่มาภาพ: http://www.posttoday.com/politic/417627

3. ผู้เกี่ยวข้องไม่ให้ข้อมูลที่ถูกต้อง หรือปฏิเสธจะให้ข้อมูล

ในกรณีนี้แยกเป็น 3 กรณีที่เด่นชัด คือ กรณีไม่ใช่เงินภาษีของประชาชน กรณีพร้อมเปิดเผยข้อมูล และกรณีรับบริจาคไม่ถูกต้อง

3.1 เมื่อเริ่มมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน 2559 ว่าอาจมีความไม่โปร่งใสในโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ ผู้มีอำนาจหลายคนต่างออกมาบอกว่า โครงการนี้มีแต่ “เงินบริจาค” เท่านั้น ไม่ได้ใช้ “งบประมาณแผ่นดิน” ที่เป็นเงินจากภาษีของประชาชน ทำให้ไม่สามารถใช้กลไกของรัฐเข้าไปตรวจสอบได้

กระทั่งนายชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม ประธานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ออกมาเปิดเผยว่า จากการตรวจสอบพบว่า มีการใช้งบกลาง 63 ล้านบาทในการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ ผู้เกี่ยวข้องทั้งหลายถึงได้ยอมรับว่ามีการใช้เงินจากภาษีของประชาชนจริง

3.2  เมื่อ ทบ. ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ชุด พล.อ. วีรัณ เริ่มแรกมีข่าวว่าจะตรวจสอบข้อกล่าวหาว่าอาจมีการทุจริต แต่กลายเป็นว่าเป็นการตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อที่ ทบ. จะรับมอบอำนาจในการดูแลอุทยานนี้จากมูลนิธิราชภักดิ์เฉยๆ และระหว่างการแถลงผลการทำงานของคณะกรรมการฯ ชุดนี้ พล.อ. ธีรชัย นาควานิช ผู้บัญชาการทหารบก คนปัจจุบัน ระบุว่า พร้อมให้ข้อมูลทั้งหมด แต่เมื่อขอตรวจดูข้อมูลรายรับ-รายจ่ายในโครงการทั้งหมด พล.อ. ธีรชัยกลับปฏิเสธ

ต่อมา เมื่อกระทรวงกลาโหม ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ชุด พล.อ. ชัยชาญ แม้จะมีการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับอุทยานราชภักดิ์มากที่สุด โดยเฉพาะรายรับ-รายจ่ายที่เกี่ยวข้องกับโครงการ แต่กลับไม่ตรวจสอบประเด็นที่มีคนสงสัยมากที่สุดคือกรณีเรียกรับค่าหัวคิวโรงหล่อ โดยอ้างว่าไม่มีอำนาจเรียกผู้เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล และเมื่อผู้สื่อข่าวขอข้อมูลเกี่ยวกับคู่สัญญาในโครงการอุทยานราชภักดิ์ทั้งหมด ทีมงานของ พล.อ. ชัยชาญ ระบุว่า สามารถให้ได้ แต่ต้องไปยื่นคำร้องตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ มาตรา 11 ต่อศูนย์บริการข้อมูลข่าวสาร กระทรวงกลาโหม ก่อน ซึ่งผู้สื่อข่าวก็ปฏิบัติตามคำแนะนำดังกล่าว แต่จนถึงบัดนี้ ผ่านมากว่า 2 เดือนแล้ว ก็ยังไม่ได้รับข้อมูลที่ร้องขอแต่อย่าใด

 ขั้นตอนการขอเรี่ยไร (รับบริจาค) ของหน่วยงานของรัฐ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ ในโครงการที่มีวงเงินเกิน 500,000 บาท หากไม่เข้าข่ายข้อยกเว้น จะต้องยื่นขออนุมัติจาก กคร. ก่อน
ขั้นตอนการขอเรี่ยไร (รับบริจาค) ของหน่วยงานของรัฐ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ ในโครงการที่มีวงเงินเกิน 500,000 บาท หากไม่เข้าข่ายข้อยกเว้น จะต้องยื่นขออนุมัติจาก กคร. ก่อน

3.3 เมื่อมีการตรวจสอบพบว่า การรับบริจาคเพื่อก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ ทบ. โดย พล.อ. อุดมเดช ไม่ได้ยื่นขออนุมัติจากคณะกรรมการควบคุมการเรี่ยไรของหน่วยงานของรัฐ (กคร.) ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยเรี่ยไรของหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2544 ซึ่งมีการกำหนดบทลงโทษเอาไว้ว่า ผู้เกี่ยวข้องจะต้องถูกลงโทษทางวินัย ขณะที่เงินซึ่งได้จากการรับบริจาคที่ไม่ได้ขออนุญาตจะต้องถูกแช่แข็ง แต่ผู้ที่มีอำนาจในการพิจารณาบทลงโทษคือ กคร. ที่ปัจจุบันมี ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน

ผู้สื่อข่าวเคยไปดักรอสัมภาษณ์ ม.ล.ปนัดดาในงานแถลงข่าวแห่งหนึ่งถึงกรณีนี้ แต่เมื่อสอบถาม ม.ล.ปนัดดากลับอ้างว่า ไม่ได้เป็นประธาน กคร. ในวันถัดมาผู้สื่อข่าวจึงนำเอกสารคำสั่งแต่งตั้งให้ ม.ล.ปนัดดาเป็นประธาน กคร. ไปให้ดู ม.ล.ปนัดดาถึงได้ยอมรับ แต่ปฏิเสธจะตอบคำถามเกี่ยวกับอุทยานราชภักดิ์ อ้างว่าต้องขอเวลาศึกษาข้อมูลก่อน หลังจากนั้น ระหว่างเดือนมกราคม–กุมภาพันธ์ 2559 แม้ผู้สื่อข่าวจะพยายามสอบถามกับ ม.ล.ปนัดดาถึงเรื่องนี้ไม่น้อยกว่า 3 ครั้ง แต่ได้รับการปฏิเสธทุกครั้ง

581201ปนัดดา
ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการควบคุมการเรี่ยไรของหน่วยงานของรัฐ (กคร.) ที่มาภาพ : www.voicetv.co.th

จากแค่ 3 ประเด็นข้างต้น เป็นการยืนยันว่า “การเปิดเผยข้อมูล” เพื่อสร้างความโปร่งใสของภาครัฐ ในรัฐบาลชุดปัจจุบัน ภายใต้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา แทบไม่มีอะไรที่แตกต่างไปจากรัฐบาลชุดก่อนๆ เลยแม้แต่น้อย ยิ่งเป็นโครงการที่บุคคลสำคัญในรัฐบาลถูกตั้งคำถาม หรือมีส่วนได้ส่วนเสีย

ทั้งๆ ที่ พล.อ. ประยุทธ์ เน้นย้ำมาตลอดว่า เหตุที่ทำรัฐประหาร เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เพราะต้องการเข้ามาเพื่อปฏิรูปประเทศ โดยหนึ่งในประเด็นที่ต้องปฏิรูปอย่างเร่งด่วน คือการสร้างความโปร่งใสในหน่วยงานภาครัฐ เพื่อแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน

นอกจากนี้ กฎหมายข้อมูลข่าวสารฉบับใหม่ อย่าง ร่าง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารสาธารณะ พ.ศ. …. ที่จะปฏิรูปการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของหน่วยงานของรัฐอย่างมโหฬาร กลับถูกรัฐบาล คสช.  จัดลำดับชั้นเป็น “กฎหมายที่ไม่มีความจำเป็นต้องพิจารณาเร่งด่วน” และแทบไม่เคยถูกหยิบขึ้นมาพูดถึงแต่อย่างใด