ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > 10 ปีเงินเดือน “ครู” ไม่รวมค่าวิทยฐานะ – รายได้อื่น ขั้นต้น 3,500 – 15,600 บาท/เดือน สูงสุด 66,480 บาท

10 ปีเงินเดือน “ครู” ไม่รวมค่าวิทยฐานะ – รายได้อื่น ขั้นต้น 3,500 – 15,600 บาท/เดือน สูงสุด 66,480 บาท

2 ธันวาคม 2014


ในช่วงที่ผ่านมามีกระแสการปรับเงินเดือนข้าราชการไทยโดย คสช. หรือ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ และจะมีการปรับอีกครั้งในปีหน้า ไทยพับลิก้าได้นำเสนอข่าว 10 ปีเงินเดือนข้าราชการไทย ปรับ 6 ครั้ง อัตราปี 2558 ได้ขึ้นมากสุด 8% ไปในตอนที่แล้ว ในระยะสิ้นปีที่จะถึงนี้ข่าวการจะขึ้นเงินเดือนข้าราชการนำมาสู่ข้อถกเถียงที่ว่า เงินเดือนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ได้รับต่อเดือนนั้นน้อยไปหรือเพียงพอต่อการดำรงชีพหรือไม่

ข้าราชการครูนั้นมีความแตกต่างจากข้าราชการอื่น ตรงที่ไม่ขึ้นกับ ก.พ. หรือ คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน ซึ่งในเว็บไซต์ของสำนักงาน ก.พ. ให้เหตุผลที่ข้าราชการครูไม่เหมือนกับข้าราชการอื่นไว้ว่า ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาจะสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547 และพระราชบัญญัติเงินเดือน เงินวิทยฐานะ และเงินประจำตำแหน่ง ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547

ส่วนอัตรากำลัง โครงสร้าง และอัตราเงินเดือน อยู่ภายใต้พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2546 โดยมีองค์กรกลางบริหารงานบุคคล คือ ก.ค.ศ. หรือ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ส่วนข้าราชการพลเรือนอยู่ภายใต้พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 และ พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 โดยมีองค์กรกลางบริหารงานบุคคล คือ ก.พ. เงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งข้าราชการพลเรือนสามัญยังคงเป็นไปตามพระราชบัญญัติเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง พ.ศ. 2538

เหตุที่มีความแตกต่างเนื่องจากได้มีการปรับปรุงกฎหมายของข้าราชการครูเพื่อให้สอดคล้องกับการปฏิรูปการศึกษา และการปรับปรุงคุณภาพของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาให้สูงขึ้น ซึ่งรวมถึงการให้มีเงินวิทยฐานะเพิ่มขึ้นด้วย

ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา กินความหมายรอบคลุมถึงข้าราชการที่ได้รับการบรรจุและแต่งตั้งให้ปฏิบัติราชการในสถานศึกษา หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ประกอบด้วย ผู้สอนในหน่วยงานการศึกษา นั่นคือ ครูผู้ช่วย (คผช.) ครูและบุคลากรทางการศึกษาระดับ 1 ถึง 5 (ค.ศ. 1-5) ผู้บริหารสถานศึกษา และบุคลากรทางการศึกษาอื่น

โดย “ครูผู้ช่วย” เป็นตำแหน่งที่บรรจุแต่งตั้งในระดับแรก (เทียบเท่าอาจารย์ 1 ระดับ 3 เดิม) ต่อมาเป็นชั้นครู ค.ศ. 1 (เทียบเท่าอาจารย์ 1 ระดับ 4-5) ครู ค.ศ. 2 เป็นวิทยฐานะครูชำนาญการ แต่งตั้งจากครู ค.ศ. 1 (เทียบเท่าตำแหน่งอาจารย์ 2) ครู ค.ศ. 3 เป็นวิทยฐานะครูชำนาญการพิเศษ แต่งตั้งจากครู ค.ศ. 2 ที่มีผลงานวิชาการผ่านเกณฑ์ (เทียบเท่าตำแหน่งอาจารย์ 3 ระดับ 8) ครู ค.ศ. 4 เป็นวิทยฐานะครูเชี่ยวชาญ แต่งตั้งจากครู ค.ศ. 3 ที่มีผลงานวิชาการผ่านเกณฑ์ (เทียบเท่าตำแหน่งอาจารย์ 3 ระดับ 9) และครู ค.ศ. 5 เป็นวิทยฐานะครูเชี่ยวชาญพิเศษ แต่งตั้งจากครู ค.ศ. 4 ที่มีผลงานวิชาการผ่านเกณฑ์ (เทียบเท่าตำแหน่งอาจารย์ 3 ระดับ 10)

ส่วนผู้บริหารสถานศึกษาและผู้บริหารการศึกษา ประกอบด้วยตำแหน่งต่างๆ คือ รองผู้อำนวยการสถานศึกษา ผู้อำนวยการสถานศึกษา รองผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา และตำแหน่งที่มีชื่อเรียกอย่างอื่น ตามที่ ก.ค.ศ. กำหนด

ทั้งนี้ยังมีส่วนบุคลากรทางการศึกษาอื่น ประกอบด้วย ตำแหน่งศึกษานิเทศก์ และตำแหน่งที่เรียกชื่ออย่างอื่นตามที่ ก.ค.ศ. กำหนด และนอกจากตำแหน่งข้าราชการครูในขั้นก่อนอุดมศึกษาระดับ คผช.-ค.ศ. 5 แล้ว ยังมีตำแหน่งอาจารย์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์ ซึ่งจะมีได้เฉพาะในสถานศึกษาที่สอนระดับปริญญาด้วย

ฐานเงินเดือนขั้นต่ำข้าราชการครูในรอบ 10 ปี ตั้งแต่ 2547-2557 ไม่รวมค่าวิทยฐานะนอกเหนือจากเงินเดือน ตั้งแต่ 3,500-15,600 บาท/เดือน ฐานสูงสุด 66,480 บาท(คลิ๊กที่ภาพเพื่อขยาย)

ตั้งแต่การปรับเปลี่ยนโครงสร้างข้าราชการเมื่อปี 2547 ข้าราชการครูมีพระราชบัญญัติเงินเดือน เงินวิทยฐานะ และเงินประจำตำแหน่งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547 ออกมาใช้ ซึ่งต่อมาได้มีพระราชกฤษฎีกาการปรับเงินเดือนของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2549 โดยมีบัญชีเงินเดือนขั้นต่ำขั้นสูงของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ แสดงรายได้ต่ำสุดอันดับครูผู้ช่วยขั้นต่ำชั่วคราว 7,630 บาท – ขั้นสูง 16,190 บาท
ค.ศ. 1 ขั้นต่ำชั่วคราว 7,630 – ขั้นสูง 26,440 บาท
ค.ศ. 2 ขั้นต่ำชั่วคราว 12,040 บาท – ขั้นสูง 32,250 บาท
ค.ศ. 3 ขั้นต่ำชั่วคราว 12,040 บาท – ขั้นสูง 45,620 บาท
ค.ศ. 4 ขั้นต่ำ 23,230 บาท – ขั้นสูง 48,600 บาท
ค.ศ. 5 ขั้นต่ำ 27,450 บาท – ขั้นสูง 61,860 บาท

ในปี 2550 มีพระราชกฤษฎีกาการปรับเงินเดือนของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2550 บัญชีเงินเดือนขั้นต่ำขั้นสูงของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ต่ำสุดอันดับครูผู้ช่วยขั้นต่ำชั่วคราว 7,940 บาท – ขั้นสูง 16,840 บาท
ค.ศ. 1 ขั้นต่ำชั่วคราว 7,940 – ขั้นสูง 27,500 บาท
ค.ศ. 2 ขั้นต่ำชั่วคราว 12,530 บาท – ขั้นสูง 33,540 บาท
ค.ศ. 3 ขั้นต่ำชั่วคราว 12,530บาท – ขั้นสูง 47,450 บาท
ค.ศ. 4 ขั้นต่ำ 23,230 บาท – ขั้นสูง 50,550 บาท
ค.ศ. 5 ขั้นต่ำ 28,550 บาท – ขั้นสูง 64,340 บาท

ปี 2554 มีพระราชบัญญัติเงินเดือน เงินวิทยฐานะ และเงินประจำตำแหน่งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 (ต่อจาก 2547) บัญชีเงินเดือนขั้นต่ำขั้นสูงของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ต่ำสุดอันดับครูผู้ช่วยขั้นต่ำชั่วคราว 7,940 บาท – ขั้นสูง 16,840 บาท
ค.ศ. 1 ขั้นต่ำชั่วคราว 8,130 – ขั้นสูง 29,700 บาท
ค.ศ. 2 ขั้นต่ำชั่วคราว 12,530 บาท – ขั้นสูง 36,020 บาท
ค.ศ. 3 ขั้นต่ำชั่วคราว 12,530 บาท – ขั้นสูง 50,550 บาท
ค.ศ. 4 ขั้นต่ำ 23,230 บาท – ขั้นสูง 59,770 บาท
ค.ศ. 5 ขั้นต่ำ 28,550 บาท – ขั้นสูง 66,480 บาท

นอกจากเงินเดือนแล้ว ข้าราชการครูจะได้รับเงินวิทยฐานะของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาตามวิทยฐานะของแต่ะลตำแหน่งอีกด้วย นอกเหนือจากเงินเดือนตั้งแต่ 3,500 – 15600 บาท/เดือน

ปี 2555 ก.ค.ศ. มีการปรับบัญชีเงินเดือนสำหรับคุณวุฒิที่ ก.ค.ศ. รับรองใหม่ อาทิ ปริญญาเอก อัตราใหม่ 19,100 บาท ปริญญาโทที่มีหลักสูตรกำหนดเวลาศึกษาไม่น้อยกว่า 2 ปี ต่อจากวุฒิปริญญาตรีที่มีหลักสูตรกำหนดเวลาศึกษาไม่น้อยกว่า 5 ปี อัตราใหม่ 16,570 บาท ปริญญาโททั่วไปหรือเทียบเท่า อัตราใหม่ 15,430 บาท ปริญญาตรี หลักสูตร 6 ปี อัตราใหม่ 15,430 บาท ปริญญาตรี หลักสูตร 5 ปี อัตราใหม่ 12,530 บาท

สำหรับอัตราเงินเดือนกลุ่มข้าราชการครูที่ได้รับผลกระทบจากการปรับเงินเดือน 15,000 บาท หรือกลุ่มที่บรรจุก่อน 1 ม.ค. 2555 สำนักงาน ก.ค.ศ. ได้ปรับเงินเดือนชดเชยเสร็จแล้ว ดังนี้ คุณวุฒิปริญญา-ตรี 4 ปี อันดับครูผู้ช่วยช่วงอัตราเงินเดือนที่จะได้รับการปรับชดเชย 8,340-17,310 บาท
ค.ศ. 1 8,540-21,570 บาท
ค.ศ. 2 13,160-21,460 บาท
ค.ศ. 3 13,160-19,410 บาท

ปริญญาตรี 5 ปี ครูผู้ช่วย 9,140-17,310 บาท
ค.ศ. 1 9,210-23,360 บาท
ค.ศ. 2 13,160-22,940 บาท
ค.ศ. 3 13,160-23,280 บาท

ปริญญาโททั่วไป ครูผู้ช่วย 10,190- 17,690 บาท
ค.ศ. 1 10,190-25,730 บาท
ค.ศ. 2 13,160-25,930 บาท
ค.ศ. 3 13,160-25,740 บาท

และปริญญาเอก ครูผู้ช่วย 13,770-17,690 บาท
ค.ศ. 1 13,860-30,710 บาท
ค.ศ. 2 13,910-35,050 บาท
ค.ศ. 3 13,910-35,120 บาท
ค.ศ. 4 24,400-34,690 บาท
ค.ศ. 5 29,980-34,440 บาท

ทั้งนี้ ตัวอย่างการปรับชดเชย อาทิ ผู้ที่บรรจุด้วยวุฒิปริญญาตรีอันดับ ค.ศ. 3 หากเงินเดือน 12,530 บาท จะได้ปรับเงินเดือน 15,800 บาท แต่จะไม่ได้เงินเพิ่มค่าครองชีพ หากปรับแล้วยังไม่ถึง 15,000 บาท ก็จะได้เงินค่าครองชีพเพิ่มด้วย

ความเคลื่อนไหวล่าสุดมีขึ้นในปี 2556 ในสมัยรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 10 ตุลาคม 2556 ตามที่รองนายกรัฐมนตรี นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา ประธานกรรมการ เสนอปรับปรุงค่าตอบแทนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ปี 2556 และปี 2557 ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสนอ ส่วนงบประมาณสำหรับการปรับอัตราเงินเดือนสำหรับคุณวุฒิ ที่ ก.ค.ศ. รับรองเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาและการปรับเงินเดือนชดเชยผู้ได้รับผลกระทบจากการปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุใหม่ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2556 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2557 จำนวนเงินที่ใช้ปรับเพิ่มรวมทั้งสิ้น 2,526,782,130 บาท โดยฐานเงินเดือนครูผู้ช่วยอยู่ที่ 15,050 บาท ค.ศ. 1 15,440 บาท ค.ศ. 2 15,050 บาท ค.ศ. 3 15,050 บาท ค.ศ. 4 27,090 บาท และ ค.ศ. 5 29,980 บาท

ปริศนาเงินเดือนครู เพิ่มเงินอาจไม่เพิ่มคุณภาพการศึกษา

จากการเพิ่มเงินเดือนข้าราชการครูเมื่อปี 2554 จนทำให้สัดส่วนการขึ้นเงินเดือนครูสูงกว่าข้าราชการฯ อุดมศึกษา รศ.จิระพันธ์ ห้วยแสน ประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ได้เปรียบเทียบการขึ้นเงินเดือนของข้าราชการว่า จากการเปลี่ยนระบบราชการจากซีมาเป็นแท่ง ก.ค.ศ. หรือ คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา จะมีคณะกรรมการกลางในการบริหารงานบุคคลและกำกับดูแลข้าราชการ เป็นหน่วยงานในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เดิมมีฐานะเป็นกรม ในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ชื่อว่า “สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครู” (ก.ค.) ต่อมาภายหลังการปฏิรูประบบราชการในปี พ.ศ. 2545 ได้มีการยุบรวมกรมต่างๆ เข้าด้วยกัน ทำให้ สำนักงาน ก.ค. ถูกยุบรวมเป็น สำนักงาน ก.ค.ศ. ในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงฯ

เมื่อพิจารณาการปรับเงินเดือนระหว่างข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษากับข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พบว่าข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาปรับเงินเดือนขึ้น 8% ก่อนที่จะเปลี่ยนจากระบบซีมาเป็นแท่ง แต่ข้าราชการฯ อุดมศึกษาไม่ได้ปรับ ในการขึ้นเงินเดือนเมื่อ 1 เมษายน 2554 ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา มีฐานเงินเดือนที่สูงกว่าพวกข้าราชการฯ อุดมศึกษา สัดส่วนการขึ้นเงินเดือนจึงสูงกว่าข้าราชการฯ อุดมศึกษา เมื่อรัฐบาลปรับขึ้นเงินเดือน 5% ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาซึ่งมีฐานเงินเดือนมากกว่าข้าราชการฯ อุดมศึกษาย่อมมีสัดส่วนการเงินเดือนสูงกว่าข้าราชการฯ อุดมศึกษา

ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาผู้ใด เมื่อเงินเดือนถึงขั้นสูงของอันดับเงินเดือนของตำแหน่งและวิทยฐานะในอันดับ ค.ศ. 2 ค.ศ. 3 หรือ ค.ศ. 4 ให้ผู้นั้นได้รับเงินเดือนสูงกว่าขั้นสูงของอันดับเงินเดือนเดิม โดยให้ไปอาศัยรับเงินเดือนในอันดับถัดไปได้อีกหนึ่งอันดับเท่านั้น ถ้าไม่มีขั้นหรืออัตราเงินเดือนที่ได้รับอยู่เดิมให้ได้รับในขั้นหรืออัตราเงินเดือนใกล้เคียงที่สูงกว่า แล้วแต่กรณี แต่ข้าราชการฯ อุดมศึกษาไม่ได้

ผู้ใดได้รับเงินเดือนสูงกว่าเงินเดือนขั้นสูงของเงินเดือนอันดับ ค.ศ. 4 (เท่ากับรองศาสตราจารย์) ตามบัญชีขั้นต่ำขั้นสูงของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพแนบท้ายพระราชบัญญัติเงินเดือน เงินวิทยฐานะ และเงินประจำตำแหน่งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 แล้ว ให้ได้รับเงินวิทยฐานะในอัตรา 15,600 บาทต่อเดือน แต่ข้าราชการฯ อุดมศึกษาไม่ได้

ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ใช้พระราชบัญญัติเงินเดือน เงินวิทยฐานะ และเงินประจำตำแหน่งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา แต่ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา ไม่มีพระราชบัญญัติเงินเดือน เงินวิทยฐานะ และเงินประจำตำแหน่งข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา เป็นของตนเอง

นอกจากการเปรียบเทียบผลประโยชน์ระหว่างครูและอาจารย์มหาวิทยาลัยแล้ว ในปี 2555 ที่ผ่านมา คณะวิจัยทีดีอาร์ไอซึ่งนำโดย ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ยังประเมิณว่าเงินเดือนครูขึ้นมาก รายได้ต่อเดือนของครูที่มีวุฒิการศึกษาปริญญาตรีและสอนในโรงเรียนรัฐก็เพิ่มสูงขึ้นจากประมาณ 15,000 บาท ในปี 2544 เป็นประมาณ 24,000-25,000 บาท ในปี 2553

นอกจากนี้ คณะวิจัยระบุว่า อาชีพครูไม่ได้มีรายได้น้อยกว่าอาชีพอื่นอีกต่อไป แต่ในทางตรงข้าม ผลคะแนนการทดสอบมาตรฐานของนักเรียนไทยทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติกลับมีแนวโน้มลดต่ำลง ใจกลางของปัญหาดังกล่าวคือการขาดความผิดชอบของระบบการศึกษาตลอดทุกขั้นตอน ต่อผลการศึกษาของนักเรียนไทยที่ลดต่ำลง

นอกจากนี้ แนวโน้มเงินเดือนของครูที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นถึงสองเท่า และเงินเดือนครูจะสูงขึ้นเรื่อยๆ ปัจจุบันเงินเดือนครูสูงกว่าเงินเดือนอาจารย์มหาวิทยาลัยแล้ว หากระบบยังเป็นเช่นนี้อยู่ เงินเดือนครูจะสูงกว่าแทบทุกอาชีพ ดังนั้นปัจจัยในเรื่องค่าตอบแทนจึงไม่น่าเป็นปัญหาว่าจะไม่ดึงดูดคนเก่งๆ ให้อยากเป็นครู สิ่งที่เป็นโจทย์สำคัญต่อไปจึงเป็นเรื่องระบบการคัดเลือกครูที่มีมาตรฐานมากขึ้น

คณะนักวิจัยยังเสนอการปฏิรูประบบการเงินเพื่อการศึกษาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ เนื่องจากปัจจุบันโรงเรียนรัฐได้รับการอุดหนุนมากกว่าโรงเรียนเอกชนเท่าตัว อีกทั้งเงินอุดหนุนดังกล่าวก็ไม่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำระหว่างโรงเรียนในเขตร่ำรวยและยากจนเท่าที่ควร การปฏิรูปจึงควรมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรับผิดชอบและลดความเหลื่อมล้ำระหว่างพื้นที่ โดยมีการกำหนดเป้าหมายคะแนนการทดสอบมาตรฐานขั้นต่ำของนักเรียนที่ต้องการ และจัดสรรเงินอุดหนุนจำนวนมากกว่าให้แก่โรงเรียนในเขตพื้นที่ด้อยโอกาสเพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านทรัพยากร จากนั้น นำข้อมูลผลสอบมาตรฐานของนักเรียนที่เกิดขึ้นจริงเทียบกับคะแนนเป้าหมายที่กำหนดไว้เพื่อประเมินผลการทำงานและให้รางวัลแก่ผู้บริหาร